แต่สำหรับพื้นที่ชายแดนแห่งนี้....วันนี้เป็นอีกวันสุข
ตอนแรกที่เลือกลงมาทำงานที่นี่คิดเพียงว่าอยากจะอยู่ให้ไกลบ้านบ้าง
แต่พอมาทำงานแล้วพบว่าในพื้นที่มีหลากหลายชนเผ่ามาก
ก็คิดไปต่าง ๆ นา นา ว่าไหวมั้ย สิ่งแรกที่คิดเลยจะคุยกันรู้เรื่องมั้ยว๊า
เอาจริง ๆ ชนกลุ่มน้อยเหล่านั้นมีความพยายามที่จะสื่อสารกับเราอย่างดี
ใครที่สื่อสารไม่ได้เค้าก็จะพาล่ามของเค้ามาด้วย อยู่ไป ๆ กลับพบว่า
พวกเค้ายอมรับและพูดง่ายกว่าคนไทยแท้ ๆ อยู่มากมายนัก
ไม่มีการต่อต้านหมอบอกอะไรก็เชื่อ ไม่เหมือนคนไทยแท้ ๆ บางคน
ที่มักจะมีเล่ห์เหลี่ยมมาหลอกหมออยู่เสมอ โดยเฉพาะคนไข้เบาหวาน
และความดันโลหิตสูงที่มักจะกินยาแค่ตอนมีอาการ หรือเมื่อต้องมาหาหมอเท่านั้น
จะมีความลำบากก็แค่บางพื้นที่เท่านั้นเอง ที่ชนกลุ่มน้อยส่วนมากจะปลูกสร้างบ้านเรือน
อยู่บนเขา หรือบริเวณเชิงเขาซึ่งต้องเดินเท้าขึ้นไปเท่านั้น ความลำบากมีแค่นั้นจริง ๆ
กับเวลาที่ไปคลอดที่ รพ.คุณหมอคุณพยาบาลมักจะตั้งชื่อลูกให้ กลับมาบ้านไม่เรียกชื่อนั้นไง
เวลาที่เรียกชื่อรับวัคซีนก็มักจะไม่รู้จักลูกตัวเอง หรือเวลามาหาหมอถ้าไม่เอาหลักฐานอะไรมา
เด็กคนเดียวกันก็จะมีชื่อในฐานข้อมูลอีกหลาย ๆ ชื่อตามจำนวนคนที่เคยพามา
เพราะส่วนมากกลางวันเค้าจะผลัดกันเลี้ยงลูกและผลัดกันไปทำงาน คนที่พามาส่วนมาก
จึงเป็นเพื่อนบ้าน หลายคนก็พยายามที่จะพูดไทยเพราะไม่อยากลำบาก....ล่าม
ก็จะฟังไม่ชัดฟังยาก บางครั้งก็เข้าใจความหมายไปคนละเรื่องไปเลย
บางครั้งก็กลายเป็นความน่ารักอีกแบบ อย่างวันนี้ กับบทสนทนาสั้นๆ
คนไข้ : (พยายามพูดไทย) หมอ ๆ ขอผ้าอนามัยหน่อย
คุณหมอ : หือ....ผ้าอนามัยต้องไปซื้อที่ร้านค้านะ อนามัยไม่มี
คนไข้ : เราไปละไม่มีเค้าบ่อต้อมา(เค้าบอกว่าต้องมา)ขอที่อนามัย
คุณหมอ : ผ้าปิดปากจมูกหรอ
คนไข้ : ไม่ใช่ ๆ
คุณหมอ : ผ้าปิดแผลหรอ
คนไข้ : ไม่ใช่ ๆ
คุณหมอ : (คิดในใจผ้าอะไรว๊า) งั้นบอกหน่อยสิว่าจะเอาไปทำอะไร
คนไข้ : เอาไปให้โผ (ผัว) เราใส่กันลูก
คุณหมอ : (ถึงบางอ้อ) เค้าเรียกว่าถุงยางอนามัยนะเธอ
คนไข้ : เออ....นั่นล่ะถุงยา ๆ (ถุงยางๆ) เราจะเรียกถุงยา(ถุงยาง)ละกลัวหมอไม่เข้าใจ
คุณหมอ : (เออก็จริงขอเค้านะเราอาจหยิบถุงใส่ยาให้เค้าก็เป็นได้)
ชนกลุ่มน้อยที่นี่เวลาพยายามพูดไทยคำพูดของเค้าจะไม่มีตัวสะกดบางครั้ง
ต้องทำความเข้าใจกันหนัก ๆ เลยเป็นความน่ารักอีกแบบนึง นี่แหล่ะวัน(ศุกร์)สุข